ประวัติยาเบญจกูล
เบญจกูล หรือ พิกัดเบญจกูล เป็นพิกัดยาที่ใช้กันมากในตำรับยาไทย เพราะว่าใช้ประจำ ในธาตุทั้ง4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของคนเรา ทั้งยังใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฏฐานด้วย
พระอาจารย์ท่านได้กล่าวสืบต่อกันมาว่ามีฤาษี 5ตน ซึ่งแต่ละตนได้ค้นคว้าตัวยา โดยบังเอิญ แต่ละอย่างนั้นมีสรรพคุณรักษาโรค และสมุฏฐานต่างๆได้ ซึ่งมีประวัติดังนี้
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“ปัพพะตัง” บริโภคซึ่งผลดีปลี เชื่อว่า อาจจะระงับอชิณโรคได้ (แพ้ของแสลง)
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“อุธา” บริโภคซึ่งรากช้าพลู เชื่อว่า อาจจะระงับซึ่งเมื่อยขบได้
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“บุพเทวา” บริโภคซึ่งเถาสะค้าน เชื่อว่า อาจระงับเสมหะและวาโยได้
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“บุพพรต” บริโภคซึ่งรากเจตมูลเพลิง เชื่อว่า อาจจะระงับโรคอันบังเกิดแต่ดี อันทําให้หนาว และเย็นได้
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“มหิทธิธรรม” บริโภคซึ่งเหง้าขิง เชื่อว่า อาจระงับตรีโทษได้
ฤาษีตนหนึ่งชื่อ“มุรทาธร” เป็นผู้ประมวลสรรพยาทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า เบญจกูล เสมอภาค เชื่อว่า ยาเบญจกูลนี้ อาจระงับโรคอันบังเกิดแก่ ทวัตติงสาการ คือ อาการ 32 ของ ร่างกายมีผมเป็นต้นและมันสมองเป็นที่สุด และบํารุงธาตุทั้ง 4 ให้บริบูรณ์
ตัวยาแต่ละตัวในเบญจกูล ใช้เป็นยาประจำธาตุได้ดังนี้
ดอกดีปลี ประจำธาตุดิน (ปถวีธาตุ)
รากช้าพลู ประจำธาตุน้ำ (อาโปธาตุ)
เถาสะค้าน ประจำธาตุลม (วาโยธาตุ)
รากเจตมูลเพลิง ประจำธาตุไฟ (เตโชธาตุ)
เหง้าขิง ประจำทวารของร่างกาย (อากาศธาตุ)